วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

...เตรียมตัวอย่างไร??? เมื่อต้องตรวจสุขภาพ...

          By Lt.Col.Jakkrit Mora
    ผมเคยได้ไปร่วมประชุมวิชาการประจำปีทางเทคนิคการแพทย์ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย สถานที่จัด จะหมุนเวียนไปตามภาคต่างๆ ครั้งที่ 33 จำได้ว่าจัดที่เชียงใหม่ ล่าสุดครั้งที่ 34 จัดที่แอมบาสเดอร์ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี 20-22 เม.ย.53 ทุกครั้งบรรยากาศจะคึกคัก ตื่นตา ตื่นใจมากครับ มีคนมาในงานนี้เยอะมาก น่าจะประมาณเกือบสองพันคน ความรู้ทางวิชาการอัดแน่นมีบรรยายหลายห้องให้เลือกเข้าฟังตามความสนใจ ในงานมีบริษัทห้างร้านต่างๆมากมาย มาออกบูธแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เดินดูไม่หมดครับเพราะมีเป็นร้อยบูธ ใครขยันเดินดู ขยันเจ๊าะแจ๊ะ สอบถามก็จะได้ความรู้เยอะ แถมได้ของแถมของแจกติดไม้ติดมืออีก ก็ดีครับเป็นการ Update ความรู้เพราะเทคโนโลยีมันไปเร็วมาก แต่ที่จะลืมไม่ได้คือ การได้พบกับเพื่อนๆ พื่ๆ น้องๆและท่านอาจารย์ที่เคยพร่ำสอนตอนเรียนมหา'ลัย บางคนไม่ได้พบกันมาตั้ง 20 กว่าปี จนต้องถามว่า ใช่คุณ...หรือปล่าวครับ แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือรอยยิ้ม เรื่องเล่ามากมายและเสียงหัวเราะ จากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ห่างเหินกันไปนาน
        กลับจากประชุม ก็มาเล่าให้น้องๆในที่ทำงานฟัง และคิดว่าจะให้น้องๆได้ไปเข้าร่วมประชุมในงานนี้บ้างเพื่อเปิดหู เปิดตา เป็นการชาร์จไฟให้กับตัวเอง ผู้เขียนคิดว่า เรื่องที่เราเล่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น น่าจะได้มีการบันทึกเก็บไว้ หรือเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบด้วย น่าจะดีกว่าเล่าผ่านลมไปเฉยๆ นานเข้าก็ลืม พอดีที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพ รพ.รร.จปร.เขาจัดอบรมการทำ Blog เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดการความรู้(KM)ขององค์กร น้องๆในแผนกฯ เสนอว่า หัวข้อเรื่อง "เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องตรวจสุขภาพ" น่าสนใจและมีประโยชน์ที่ผู้อื่นควรรู้ เลยเอามาฝากให้อ่านกันเล่นๆ ไม่ต้องเครียดนะครับ...
         เตรียมตัวเจาะเลือดตรวจสุขภาพทำอย่างไรดี
1.ปฏิบัติตนตามชีวิตประจำวันอย่างปกติ
2.ไม่ควรดื่มสุราและกาแฟเพราะมีผลทำให้ความดันโลหิตสูง
3.ยาประจำที่กินอยู่ กินตามปกติยกเว้นแพทย์แจ้งให้งดกิน ก่อนมาเจาะเลือด
4.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5.กรณีเจาะเลือดหาระดับน้ำตาลในเลือด ให้งดกินอาหารทุกชนิดรวมทั้งเครื่องดื่มทุกประเภท ก่อนเจาะเลือด 8 ชั่วโมง ยกเว้นน้ำดื่ม
6. กรณีเจาะเลือดหาระดับไขมันในเลือด ให้งดกินอาหารทุกชนิดรวมทั้งเครื่องดื่มทุกประเภท ก่อนเจาะเลือด 12 ชั่วโมง ยกเว้นน้ำดื่ม
7.ใส่เสื้อที่สามารถพับแขนเสื้อขึ้นได้สะดวก ไม่รัดแน่นเกินไป เพื่อสะดวกในการเจาะเลือด
          การปฏิบัติตนหลังการเจาะเลือด
1.ควรพับงอแขนข้างที่เจาะเลือด ประมาณ 5 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล
2.ในกรณีที่ต้องอดอาหารก่อนมาเจาะเลือด ให้รีบกินอาหารเพื่อป้องกันอาการขาดน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีผลทำให้วิงเวียนศรีษะและเป็นลมได้
3.ไม่นวดหรือคลึงบริเวณรอยเจาะเลือด เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่ถูกเจาะแตกและเป็นรอยช้ำได้
4.รอยเขียวช้ำจากการเจาะเลือด จะจางหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์
           การเก็บปัสสาวะส่งตรวจ
       ทำความสะอาดมือและอวัยวะเพศ ควรถ่ายปัสสาวะทิ้งในช่วงแรกและเก็บในช่วงกลางของการถ่ายปัสาวะ ประมาณ 10-15 ซีซี ทั้งชายและหญิง เพื่อลดการปนเปื้อนของปัสสาวะที่ส่งตวจทางห้องปฏิบัติการ สุภาพสตรีในระหว่างมีรอบเดือน ไม่ควรตรวจปัสสาวะ เนื่องจากมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน ทำให้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผิดพลาดได้
การเก็บอุจจาระส่งตรวจ

1.ขวดที่ใช้เก็บเป็นขวดปากกว้างมีฝาเกลียว สะอาดและแห้ง ต้องเก็บทันทีหลังจากผู้ป่วยถ่าย จำนวนประมาณ 1-5 กรัม (ขนาดประมาณหัวแม่มือ)
2.ควรเก็บส่วนที่ผิดปกติ ได้แก่ ส่วนที่มีมูก มูกเลือดหรือมีสีแปลกออกไป เลือกเก็บมาแห่งละนิดละหน่อย และนำมาบรรจุใส่ภาชนะเดียวกัน

การเก็บเสมหะส่งตรวจ
1.บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าก่อนไอ เพื่อไม่ให้มีเศษอาหารปน เพราะมีลักษณะเหมือนเชื้อทนกรด
2.หายใจเข้าลึกๆ 2-3 ครั้ง
3.ไอแรงๆ โดยออกแรงจากทรวงอก ให้เสมหะขึ้นมาจากหลอดลม
4.เมื่อขากได้แล้วให้ยกปากถ้วยขึ้นชิดริมฝีปากล่าง ค่อยๆปล่อยเสมหะไหลลงในตลับ
5.ตวจดูเสมหะที่เก็บได้ เสมหะที่ใช้ตรวจได้ดีควรเป็นเมือกเหนียว เป็นยวง ขุ่นข้น มีสีปนเหลืองหรือปนเขียว ไม่ใช่น้ำลายซึ่งใสหรือเป็นฟองสีขาว
6. ปิดฝาถ้วยเสมหะให้แน่นแล้วส่งห้องปฏิบัติการ หากไม่สามารถส่งได้ทันทีในวันนั้น ควรเก็บในตู้เย็น ไม่ให้ถูกแสงแดดและความร้อน
          ผู้เขียนหวังว่า เนื้อหาคงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน บ้างตามสมควรนะครับ ถ้าอยากได้เอกสารที่สำเนาจากฉบับจริง เชิญหยิบได้ฟรีที่แผนกพยาธิวิทยา รพ.รร.จปร. ครับ
แหล่งข้อมูล เอกสารเผยแพร่เรื่อง เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องตรวจสุขภาพ ฉบับประชาชน สนับสนุนโดย สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เครื่อข่ายวิชาชีพสุขภาพ สภาเทคนิคการแพทย์